โดรนเกษตร นวัตกรรมยุคใหม่ ที่ช่วยทำให้งานของเกษตรกรง่ายยิ่งขึ้น

ปรับปรุงล่าสุด : 2 มีนาคม 2565

ในปัจจุบัน ต้องยอมรับเลยว่าการเกษตรของบ้านเรานั้น พัฒนาไปไกลกว่าแต่ก่อนมาก ๆ ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีทางการเกษตรต่าง ๆ ที่ช่วยให้งานของเกษตรกรนั้นมีประสิทธิภาพ และยังช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับพวกเขาได้มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ต้นกระบวนการผลิต ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวที่ลดเวลาลงไปได้มาก และโดรนเกษตรนี้เอง ก็เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางการเกษตรใหม่ ที่เราจะยกมาพูดกันในครั้งนี้นั่นเอง

โดรนเกษตร นวัตกรรมยุคใหม่ ที่ช่วยทำให้งานของเกษตรกรง่ายยิ่งขึ้น

แรกเริ่มเดิมทีแล้ว โดรนคืออากาศยานไร้คนขับที่มีจุดประสงค์แรกเริ่มสำหรับใช้ในทางการทหาร แต่ด้วยความต้องการที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงานคน ด้วยจุดประสงค์ลดต้นทุนการผลิตเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม ทำให้ได้มีการปรับเปลี่ยนให้โดรนเหล่านั้นสามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในแวดวงต่าง ๆ ให้อย่างเหมาะสม นั่นยังรวมไปถึงทางด้านของอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่มาของการใช้งานโดรนเพื่อการเกษตร หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “โดรนเกษตร” นั่นเอง

ประเภทการใช้งานโดรนเกษตรในปัจจุบัน

ประเภทการใช้งานโดรนเกษตรในปัจจุบัน

1. โดรนสำหรับหว่านปุ๋ย และฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชในไร่

เป็นการใช้งานโดรนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการฉีดพ่นยา และหว่านปุ๋ยในไร่ ลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้แรงงานคนเข้าไปฉีดพ่นยา และหว่านปุ๋ยในพื้นที่เพาะปลูกนั้น ๆ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย จากการฟุ้งกระจายของสารเคมีที่ใช้ ต่อแรงงานคนที่เป็นผู้ฉีดพ่นยาดังกล่าว นอกจากนั้น ยังช่วยลดเวลาทำงาน รวมไปถึงลดจำนวนแรงงานคนในการควบคุมฉีดพ่นยา และหว่านปุ๋ยลงไปได้มากอีกด้วย

2. โดรนสำหรับการรดน้ำ และการให้ฮอร์โมนต่าง ๆ

เป็นการใช้งานโดรนเพื่อควบคุมคุณภาพการผลิต เนื่องจากช่วงเวลาในการรดน้ำ และการให้ฮอร์โมนพืชเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากพืชจะสามารถดูดซึมอาหาร และฮอร์โมนได้ดีที่สุดในช่วงเวลาที่ปากใบเปิด ซึ่งเป็นเวลาไม่เกิน 7 โมงเช้า ทำให้เกษตรกรที่มีพื้นที่ไร่หลาย ๆ ไร่ จำเป็นจะต้องใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมากเพื่อให้สามารถรดน้ำ และให้ฮอร์โมนต่าง ๆ ได้ทันเวลาดังกล่าว การใช้งานโดรนเพื่อการเกษตร จึงสามารถช่วยเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างตรงจุด ด้วยระยะเวลาในการรดน้ำ และการให้ฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ลดลงไปมาก ทั้งยังลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้แรงงานคนไปได้อีกด้วย

3. โดรนสำหรับการถ่ายภาพวิเคราะห์ และตรวจโรคพืช

เป็นการใช้งานโดรนเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถดูแลรักษาโรคพืชได้อย่างตรงจุด เนื่องจากการใช้แรงงานคนเพื่อคอยตรวจเช็คพืชผลในไร่นั้น อาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ง่ายจากการที่ใช้สายตาประเมินเป็นหลัก รวมไปถึงอาจเกิดการตกหล่นขึ้นได้ จนไม่อาจเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างเต็มที่ โดยจะมีการนำโดรนมาติดระบบเซ็นเซอร์ และกล้องสำหรับการถ่ายภาพทางอากาศ ซึ่งจะใช้ระบบ GPS ในการหาพิกัดต่าง ๆ คอยช่วยตรวจสอบภาพพื้นที่เพาะปลูกในไร่ด้วยมุมสูง เพื่อวิเคราะห์หาการเจริญเติบโตของพืชในแต่ละจุด และหาวิธีแก้ไขได้อย่างทั่วถึง

อยากหาโดรนเพื่อการเกษตรมาใช้งาน ควรเริ่มต้นอย่างไรดี

อยากหาโดรนเพื่อการเกษตรมาใช้งาน ควรเริ่มต้นอย่างไรดี
ถึงแม้โดรนเพื่อการเกษตรจะสามารถทุ่นแรงได้มาก ช่วยประหยัดเวลา และช่วยให้การทำเกษตรนั้นง่ายขึ้น แต่สำหรับพื้นที่ไร่บางแห่งของเกษตรกรบางท่านเอง ก็ใช่ว่าจะจำเป็นจะต้องซื้อโดรนมาไว้ใช้งานเองเลย แต่สามารถหาจ้างผู้เชี่ยวชาญในการบินโดรน พร้อมกับตัวเครื่องมาแทนได้เช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 ทางนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรเจ้าของไร่นั้นประเมินเช่นไร ยกตัวอย่างเช่น ขนาดพื้นที่ไร่ของเรา งบประมาณที่เรามี จุดคุ้มทุนหากซื้อโดรนมาใช้เองเมื่อเทียบกับการจ้างผู้เชี่ยวชาญ หรือสามารถหาผู้เชี่ยวชาญในการบินโดรนมาใช้ควบคุมได้หรือไม่ ปัจจัยเหล่านี้จะต้องถูกประเมินให้ถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดต้นทุนการผลิตของเราสูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์นั่นเอง

การซื้อโดรนเกษตรมาไว้เป็นของตัวเอง

ในการซื้อโดรนเพื่อการเกษตรมาไว้ใช้งานภายในไร่นั้น มีราคาตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน โดยจะขึ้นอยู่กับขนาดถัง ระบบเซนเซอร์ และความทนทานของแบตเตอรี่ รวมไปถึงอายุการใช้งานของตัวเครื่องด้วยเช่นกัน ซึ่งจะคุ้มค่าเป็นอย่างมาก หากเกษตรกรนั้นมีไร่เยอะ เพราะช่วยทุ่นแรง และลดค่าใช้จ่ายในการฉีดพ่นได้ในระยะยาว แต่กลับกัน ตัวเครื่องโดรนเองก็มีค่าบำรุงรักษาที่แพง เปลี่ยนแบตเตอรี่บ่อย ทำให้เกษตรกรที่มีไร่ไม่เยอะ การจ้างผู้เชี่ยวชาญในการบินพร้อมตัวเครื่องจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า

จ้างผู้เชี่ยวชาญในการบินโดรนเกษตรพร้อมตัวเครื่อง

ในการจ้างผู้เชี่ยวชาญในการบินโดรนเพื่อการเกษตรพร้อมตัวเครื่อง จะมีราคาที่แตกต่างกันไปตามแต่ผู้รับเหมาในแต่ละพื้นที่ ซึ่งราคาเฉลี่ยของการรับเหมานี้จะมีตั้งแต่ 50 บาทต่อไร่ ไปจนถึงหลักร้อย ขึ้นอยู่กับการแข่งขันในตลาด ของผู้รับเหมาจ้างพ่นยาด้วยโดรนในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งการจ้างผู้เชี่ยวชาญในการบินโดรนเพื่อการเกษตรพร้อมตัวเครื่องเอง ก็ต้องคำนึงถึงรูปแบบการบริการของผู้รับเหมาเจ้า มาประเมินร่วมกับราคาที่ถูกเสนอมาอีกด้วย ว่ามีการบริการที่ดีคุ้มค่ากับราคาที่เราจ่ายไปหรือไม่ ซึ่งหากเกษตรกรมีพื้นที่ไร่ที่ไม่มาก หนทางนี้จะเป็นการช่วยประหยัดต้นทุนที่มากกว่า แต่กลับกัน หากมีพื้นที่ไร่ที่เยอะ การหาซื้อโดรนมาใช้งานเองจึงจะเป็นหนทางที่เหมาะสมกว่า เมื่อนำราคารับเหมามาหารเฉลี่ยด้วยราคาของโดรน น้ำยา และพื้นที่ทางการเกษตรที่เรามี รวมไปถึงค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญในการบินโดรนมาคอยทำงานภายในไร่ของเรา

สรุป

การใช้งานโดรนเกษตรนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบบที่เราซื้อมาใช้เพื่อเกษตรกรรมของเราเอง หรือจ้างผู้เชี่ยวชาญและโดรนมาใช้งาน ก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับงบประมาณและขนาดของพื้นที่ทางการเกษตรของเรา รวมไปถึงจำเป็นจะต้องรู้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการบินโดรน ซึ่งหากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการบินโดรนและการเช่ายืมต่าง ๆ แล้วล่ะก็ สามารถติดต่อมาที่ Dayzero Bangkok เพื่อสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ ที่ควรรู้ได้เช่นกัน